บทบาทของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
บทบาทของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
ในการดำเนินการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้มีประสิทธิผล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดบทบาทหน้าที่ของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง สถานศึกษาจะสามารถนำไปปรับปรุงและเลือกปฏิบัติได้ตามความเหมาะสมและความพร้อมของแต่ละสถานศึกษา คือ
บทบาทของคณะกรรมการสถานศึกษา
ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 หมวด 4 มาตรา 29 และหมวด 5 มาตรา 40 ที่มุ่งเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและให้มีคณะกรรมการสถานศึกษาขั้น พื้นฐาน เพื่อทำหน้าที่ กำกับ และส่งเสริมสนับสนุนในการบริหารจัดการในสถานศึกษานั้น คณะกรรมการสถานศึกษาควรมีบทบาทในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ดังนี้
1. ให้ความเห็นชอบ มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย เป้าหมายและดำเนินการ
1.1 มีส่วนร่วมในการวางแผน วิเคราะห์การจัดกิจกรรมของสถานศึกษา
1.2 ให้ความเห็นชอบแผนการจัดกิจกรรมของสถานศึกษา
1.3 มีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดกิจกรรมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
1.4 มีส่วนร่วมในการประเมินผล เพื่อปรับปรุงและพัฒนาในโอกาสต่อไป
2. ส่งเสริม สนับสนุน การดำเนินการจัดกิจกรรมของสถานศึกษาในด้านต่าง ๆ
2.1 ด้านงบประมาณ กรรมการสถานศึกษาต้องมีส่วนในการจัดหางบประมาณ สนับสนุนการจัดกิจกรรม วัสดุภัณฑ์ เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในการปฏิบัติกิจกรรม
2.2 เป็นวิทยากรและแนะนำวิทยากร คณะกรรมการสถานศึกษาส่วนใหญ่ประกอบไปด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ ผู้แทนองค์กรปกครองท้องถิ่น ผู้แทนชุมชน ผู้แทนผู้ปกครอง และศิษย์เก่า ซึ่งล้วนแต่มีศักยภาพในตัวเอง ฉะนั้นจึงสามารถเป็นวิทยากรหรือจัดหาวิทยากรภายนอกในกรณีที่ขาดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาที่กำหนดในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
2.3 ให้คำปรึกษาและส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการจัดกิจกรรมพัฒนา ผู้เรียน ควรกำหนดให้สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่น และตระหนักในหน้าที่ในการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น
2.4 เป็นแหล่งศึกษาและแหล่งข้อมูล กรรมการสถานศึกษาจะต้องมีการประสานสัมพันธ์กับแหล่งการเรียนรู้ในท้องถิ่น ที่เป็นโรงงาน สถานประกอบการ แหล่งวิทยาการต่าง ๆ เพื่อให้ความร่วมมือในการใช้เป็นแหล่งฝึกปฏิบัติกิจกรรม และเป็นแหล่งศึกษาดูงานตามความต้องการของผู้เรียนในแต่ละกิจกรรม
บทบาทของผู้บริหารสถานศึกษา
บทบาทของผู้บริหารสถานศึกษา ในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของสถานศึกษา มีดังนี้
1. กำหนดโยบายและแนวทางปฏิบัติ
ผู้บริหารสถานศึกษาร่วมกับคณะกรรมการกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนหรือหัวหน้า กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติดังนี้
1.1 ศึกษาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 และคู่มือการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามคำสั่งของกระทรวงศึกษาธิการ
1.2 กำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของสถานศึกษา
1.3 ศึกษาข้อมูล แหล่งวิทยาการการเรียนรู้ในชุมชนและท้องถิ่น
1.4 กำหนดและมอบหมายบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในสถานศึกษา
2. นิเทศและติดตาม
2.1 นิเทศและติดตามการจัดทำแผนงาน โครงการ ปฏิทินงานของหัวหน้าหมวด กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและอนุมัติให้ความเห็นชอบ
2.2 นิเทศ ติดตามการดำเนินงานกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนอย่างต่อเนื่องให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสถานศึกษาและเป้าหมายของการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
3. ส่งเสริมสนับสนุน
3.1 ให้มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน
3.2 ส่งเสริมการจัดกิจกรรมที่เน้นวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น
3.3 สนับสนุนทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
3.4 ให้คำปรึกษาแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
4. ประเมินและรายงาน
4.1 รับทราบผลการประเมินพร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดกิจกรรมในภาคเรียนต่อไป
4.2 รายงานการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ให้คณะกรรมการสถานศึกษาทราบเพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดกิจกรรมในภาคเรียนต่อไป
บทบาทของหัวหน้ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
บทบาทของหัวหน้ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของสถานศึกษามีดังนี้
1. สำรวจข้อมูลความพร้อม ความต้องการและสภาพปัญหา
ดำเนินการสำรวจข้อมูลความพร้อม ความต้องการ และสภาพปัญหาของ สถานศึกษา ชุมชน ท้องถิ่น และผู้เรียน เพื่อเตรียมความพร้อม ในการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการและปัญหาของผู้เรียน
2. จัดประชุมครูที่ปรึกษากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
ประชุมครูที่ปรึกษากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางในการจัด กิจกรรมให้มีความเหมาะสมกับสภาพความต้องการและปัญหาของสถานศึกษา ชุมชน ท้องถิ่นและผู้เรียน
3. จัดทำแผนงาน โครงการ และปฏิทินงานกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
จัดทำและรวบรวม แผนงาน โครงการ ปฏิทินงานกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โดยกำหนดเป็นรายภาคเรียน หรือรายปีการศึกษาหรือตามระยะเวลาที่กำหนดและเสนอขออนุมัติต่อผู้บริหารสถานศึกษา
4. ให้คำปรึกษาแก่ครูที่ปรึกษากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และผู้เรียน
มีหน้าที่ให้คำปรึกษา เพื่อช่วยให้การดำเนินการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
5. นิเทศ ติดตาม และประสานงานการดำเนินการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
ประสานงานและอำนวยความสะดวกให้การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย และนิเทศ ติดตามให้เป็นไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของสถานศึกษา
6. รวบรวมผลการประเมินการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
รวบรวมผลการประเมินการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนจากครูที่ปรึกษากิจกรรมตลอดจนปัญหาและอุปสรรค ในการจัดกิจกรรม และนำเสนอแนวทางในการพัฒนาการจัดกิจกรรมพัฒนา ผู้เรียนต่อผู้บริหารสถานศึกษา
บทบาทของครูที่ปรึกษากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
ครูทุกคนต้องเป็นครูที่ปรึกษากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามคำขอของผู้เรียนหรือตามที่สถานศึกษามอบหมาย ซึ่งจะต้องมีบทบาทดังต่อไปนี้
1. ปฐมนิเทศ
ปฐมนิเทศให้ผู้เรียนเข้าใจเป้าหมายและวิธีการดำเนินการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
2. เลือกตั้งคณะกรรมการ
จัดให้ผู้เรียนเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
3. ส่งเสริมการจัดทำแผนงาน/โครงการ
ส่งเสริมให้ผู้เรียนที่เป็นสมาชิกของกิจกรรมร่วมแสดงความคิดเห็นในการจัดทำแผนงาน/โครงการและปฏิทินการปฏิบัติงานอย่างอิสระ
4. ประสานงาน
ประสานงานและอำนวยความสะดวกในด้านทรัพยากรตามความเหมาะสม
5. ให้คำปรึกษา
ให้คำปรึกษา ดูแล ติดตามการจัดกิจกรรมของผู้เรียนให้เป็นไปตามแผนงานด้วย
ความเรียบร้อยและปลอดภัย
6. ประเมินผล
ประเมินผลการเข้าร่วมและการปฏิบัติกิจกรรมของผู้เรียน
7. สรุปและรายงานผล
สรุปและรายงานผลการจัดกิจกรรมต่อหัวหน้ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
บทบาทของผู้เรียน
ผู้เรียนทุกคนมีบทบาทในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ดังนี้
1. เข้าร่วมกิจกรรมตามความสนใจ ความถนัด และความสามารถ
ผู้เรียนทุกคนต้องเข้าร่วมกิจกรรม ตามความถนัดและความสนใจทุกภาคเรียน โดยรวมกลุ่มเสนอกิจกรรมตามความต้องการหรืออาจเข้าร่วมกิจกรรมตามข้อเสนอแนะของสถานศึกษา
2. รับการปฐมนิเทศจากครูที่ปรึกษากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
ผู้เรียนจะต้องพบครูที่ปรึกษากิจกรรม เข้ารับการปฐมนิเทศ รับฟังข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อเข้าร่วมและดำเนินการจัดกิจกรรมได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
3. ประชุมเลือกตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ
ประชุมเลือกตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ประกอบด้วย ประธาน เลขานุการ เหรัญญิก นายทะเบียน และอื่นๆ ตามความเหมาะสม
4. ประชุมวางแผน จัดทำ แผนงาน โครงการ และปฏิทินงาน
การดำเนินกิจกรรมให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ จำเป็นต้องมีการวางแผนในการดำเนินงาน ที่ประชุมควรเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการวางแผน และจัดทำโครงการปฏิทินงานที่กำหนดวัน เวลา ไว้อย่างชัดเจน
แล้วนำเสนอต่อครูที่ปรึกษากิจกรรม
5. ปฏิบัติกิจกรรมตามแผนงาน โครงการ และปฏิทินงานที่ได้กำหนดไว้
เมื่อแผนงาน โครงการ และปฏิทินงานได้รับอนุมัติจากผู้บริหารสถานศึกษาแล้ว ผู้เรียนจึงจะสามารถปฏิบัติกิจกรรมตามแผนงาน โครงการและปฏิทินงานที่ได้กำหนดไว้ในรูปแบบของคณะกรรมการที่ได้รับการเลือกตั้งโดยใช้กระบวนการกลุ่ม และให้ผู้เรียนทุกคนได้พัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพ ตามความสนใจ ความถนัด และความสามารถ
6. ประเมินผลการปฏิบัติกิจกรรม
การประเมินผลการปฏิบัติกิจกรรมสามารถประเมินผลได้ดังนี้
6.1 ประเมินผลเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
6.2 ประเมินตนเองและประเมินเพื่อนร่วมกิจกรรม จากพฤติกรรมและคุณภาพของงาน
7. สรุปผลการปฏิบัติกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
เมื่อปฏิบัติกิจกรรมเสร็จสิ้นตามโครงการแล้วคณะกรรมการดำเนินกิจกรรมจะต้องประชุมเพื่อสรุปผลการปฏิบัติกิจกรรมและนำเสนอครูที่ปรึกษากิจกรรม
บทบาทของผู้ปกครองและชุมชน
ผู้ปกครองมีบทบาทในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนดังนี้
1. ร่วมมือประสานงาน
ร่วมมือกับสถานศึกษาในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
2. ส่งเสริมสนับสนุน
2.1 ให้โอกาสผู้เรียน ได้ใช้สถานประกอบการเป็นแหล่งเรียนรู้
2.2 เป็นวิทยากรให้ความรู้ และประสบการณ์
2.3 ให้การสนับสนุน วัสดุ อุปกรณ์ งบประมาณ ในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
2.4 ดูแลเอาใจใส่ผู้เรียนและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกัน แก้ไข และพัฒนาผู้เรียน
3. ติดตาม ประเมินผล
3.1 ร่วมมือกับสถานศึกษาเพื่อติดตามพัฒนาการของผู้เรียน
3.2 บันทึกสรุปพัฒนาการ และการปฏิบัติกิจกรรมของผู้เรียน
ขั้นตอนการดำเนินการจัดกิจกรรม
1. ประชุมชี้แจงคณะครู ผู้เรียน ผู้ปกครอง เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2. สำรวจข้อมูล
2.1 ความพร้อมของสถานศึกษา ชุมชน และท้องถิ่น
2.2 สภาพปัญหา และความต้องการของผู้เรียน
3. ร่วมกันวางแผนระหว่างคณะครู ผู้เรียนและผู้เกี่ยวข้อง จัดทำแผนงาน โครงการปฏิทินปฏิบัติงาน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ทุกภาคเรียน และเสนอขออนุมัติ
4. ปฏิบัติกิจกรรมตามแผนงาน โครงการ ปฏิทินปฏิบัติงาน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ที่กำหนดไว้
5. นิเทศ ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน
6. สรุป รายงานผลการปฏิบัติงาน